PrEP กับ PEP ไม่เหมือนกันนะ!

PrEP กับ PEP ไม่เหมือนกันนะ!

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับ ยาที่ใช้สำหรับทานป้องกันไวรัสเอชไอวีมาก่อน ทั้ง PrEP และ PEP แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาประเภทนี้อยู่มาก บางคนเลือกทานผิดชนิด หรือใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง หรือบางคนเข้าใจว่าสามารถหาซื้อยา PrEP หรือ PEP ที่ร้านขายยาทั่วไปได้ แต่ความจริงแล้วยาต้านไวรัสเอชไอวีพวกนี้ จำเป็นจะต้องมีการพบแพทย์ก่อนทานเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นยาจำเพาะ และต้องทำการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวีก่อน เนื่องจากยาประเภทนี้จะทานได้ก็ต่อเมื่อคุณยังไม่มีเชื้อเอชไอวีนั่นเอง

PrEP คืออะไร

PrEP เป็นยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรค ว่ากันง่าย ๆ คือก่อนมีเซ็กส์กับใครนั่นเอง PrEP ย่อมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า Pre-Exposure Prophylaxis หลักการทำงานของ PrEP คือเมื่อทานเข้าไปในร่างกายในปริมาณที่เพียงพอ ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเอชไอวีได้ ก่อนทาน PrEP จะต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เท่านั้น เพราะจะต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่าผู้ที่ต้องการทาน PrEP มีสภาพร่างกายที่พร้อมรับยานี้หรือไม่ ได้แก่

  • ตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • ตรวจการทำงานของตับ
  • ตรวจการทำงานของไต
  • ตรวจไวรัสตับอักเสบบี
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ตรวจการตั้งครรภ์​ (เพศหญิง)

PEP คืออะไร

PEP เป็นยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสโรค ต่างจาก PrEP นั่นคือคุณจะทานยานี้หลังมีเซ็กส์กับคนที่อาจจะเชื้อเอชไอวี PEP ย่อมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า Post-Exposure Prophylaxis เมื่อทาน PEP เข้าไปในร่างกาย ตัวยาจะช่วยยับยั้งการกลายเป็นตัวไวรัสเอชไอวีที่สมบูรณ์ ร่างกายของผู้ทานก็จะสร้างภูมิคุ้มกันมาป้องกันเชื้อก่อนที่มันจะแบ่งตัวกระจายไปทำอันตรายต่อไปได้ ก่อนทาน PEP แพทย์จะต้องมั่นใจว่าผู้ทานไม่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนหน้านี้ ด้วยการซักประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยงในการทาน PEP ได้แก่

  • ตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
  • ตรวจค่าการทำงานของตับ (AST, ALT)
  • ตรวจค่าการทำงานของไต (BUN, Cr)
  • ตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
  • ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี (Anti-HBsAg)
  • ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV)
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs)
  • ตรวจการตั้งครรภ์​ (เพศหญิง)

“PrEP ทานก่อนเสี่ยง แต่ PEP ทานหลังมีความเสี่ยงในกรณีฉุกเฉิน”

PrEP กับ PEP ต่างกันยังไง

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น หลายคงรู้แล้วว่า PrEP และ PEP นั้นมีความต่างกันอย่างไร โดย PrEP ใช้ก่อนมีความเสี่ยงต่อเอชไอวี และ PEP ใช้หลังมีความเสี่ยงต่อเอชไอวี หากคุณไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะหากเลือกใช้ยาผิด ก็ไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพของคุณเอง โดยแพทย์จะพิจารณาจากความเสี่ยงและพฤติกรรมของคุณในการซักประวัติเบื้องต้น

PrEP กับ PEP เหมาะกับใคร

PrEP เหมาะสำหรับPEP เหมาะสำหรับ
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ชอบสวมถุงยางอนามัยบ่อยครั้งผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน
ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายถุงยางอนามัยแตก หรือหลุดรั่ว
ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือในคู่รักผลเลือดต่างผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ผู้ใช้สารเสพติดประเภทฉีดเข้าเส้นผู้ที่เพิ่งใช้เข็มฉีดยาเสพสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น
ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมาผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ในขณะมึนเมา ขาดสติ

PrEP กับ PEP ทานอย่างไร

PrEP ทานก่อนมีความเสี่ยงเอชไอวี

โดยทานวันละ 1 เม็ด ตรงต่อเวลา อย่างน้อย 7 วันก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ และทานต่อเนื่อง 3 เดือนขึ้นไปอย่างสม่ำเสมอ หากวันนั้นลืมทานยา ไม่ควรทานซ้ำ 2 เม็ดในครั้งเดียว แนะนำให้ทานยามื้อที่ลืมทันที เช่น คุณควรทานยาตอน 10 โมงเช้า แต่จำได้ตอนประมาณบ่าย 2 โมง ก็ให้ทาน 1 เม็ดทันที และทานยามื้อถัดไปในเวลาเดิม คือพรุ่งนี้ 10 โมง แต่หากจำได้ ใกล้เวลาทานเดิมมากเกินไป ก็ให้ทานเวลาเดิม เช่น จำได้ตอน 9 โมงของพรุ่งนี้ ก็ทาน 1 เม็ด ตอน 10 โมง เป็นต้น แต่หากไม่มีความเสี่ยงแล้วสามารถหยุดยาได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายที่ 4 สัปดาห์ และควรกลับไปปรึกษาแพทย์ก่อนการหยุดยา PrEP ทุกครั้ง

PEP ทานหลังจากมีความเสี่ยงเอชไอวีมาแล้ว

โดยควรทานให้เร็วที่สุดแต่ไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง ผู้ทานยาจะได้รับการจ่ายยาจากแพทย์ใช้ทานประมาณ 28 วัน ควรทานให้ครบ ไม่ขาดยา เพราะหากทานไม่ครบจะทำให้โอกาสในการป้องกันเชื้อลดลง และมีโอกาสดื้อยาหากครั้งหน้ายังมีโอกาสได้รับบริการยา PEP อีกครั้ง หลังจากทานครบแล้ว ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเลือดซ้ำ และควรตรวจเอชไอวีอีกครั้งหลังจาก 3 เดือน โดยในระหว่างนี้ผู้ที่ทาน PEP ควรงดบริจาคเลือดและห้ามลืมใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งด้วย

PrEP กับ PEP ป้องกันเอชไอวีได้จริงหรือไม่

ถึงแม้ว่า PrEP กับ PEP จะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น หนองใน ซิฟิลิส เริม เป็นต้น เพราะฉะนั้น การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับถุงยางอนามัยทุกครั้ง ก็จะช่วยลดโอกาสติดโรคอื่นได้ และเสริมความมั่นใจในการป้องกันมากขึ้น

PrEP มีประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวีอยู่ที่ร้อยละ 90 ขึ้นไป หากผู้ใช้ PrEP มีการทานยาที่เคร่งครัด ตรงต่อเวลา สม่ำเสมอ หากลืมทานยาบ่อยครั้ง แน่นอนว่าปริมาณยาในร่างกายที่จะไปต่อสู้กับเอชไอวีก็ลดลงตามไปด้วย

การทาน PrEP จะต้องมีการติดตามผลการทานยาจากแพทย์ผู้จ่ายยา และนัดตรวจเอชไอวีเป็นประจำทุก 3-6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถป้องกันเชื้อได้ดีที่สุด และยังเป็นการตรวจเช็คสุขภาพของผู้ทาน PrEP ด้วย เพราะหากมีอาการหรือสัญญาณผิดปกติจะได้ทำการรักษาทันที

PEP มีประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวีอยู่ที่ร้อยละ 70-80 ยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงทานเร็วเท่าไหร่ก็ทำให้ยาเข้าไปจัดการกับเชื้อได้เร็วเท่านั้น และจำเป็นจะต้องทานต่อเนื่อง 28 วันเพื่อทำให้ยาป้องกันเชื้อก่อนการแพร่กระจ่ายไปในร่างกายได้ แต่ PEP ไม่แนะนำให้ใช้ทุกครั้งหากคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงบ่อย คุณควรเลือกทาน PrEP กับถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อเอชไอวีจะเป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่า

ผลข้างเคียงของ PrEP กับ PEP

ผลข้างเคียงของการทาน PrEP หรือ PEP นั้นมีเพียงอาการเล็กน้อย และเป็นในช่วงแรกที่ทานยาประมาณ 1-2 สัปดาห์และสามารถหายไปได้เอง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น ยังไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง แต่หากคุณทานยาไประยะเวลาเกินกว่า 2 สัปดาห์และอาการยังไม่ดีขึ้น คุณควรกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

สรุป การป้องกันเอชไอวีด้วยการใช้ PrEP และ PEP อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยลดโอกาสที่จะได้รับเชื้อเอชไอวี และโอกาสการแพร่เชื้อ เพียงแต่ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสม

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา Cookies policy ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้ Cookie settings

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว บันทึกการตั้งค่า