การป้องกันเอชไอวี ทำง่ายและได้ผล
ป้องกันเอชไอวี เป็นวิธีง่ายและเราสามารถหยุดและยับยั่งเราจากการสัมผัสเชื้อเอชไอวีได้ เอชไอวีสามารถติดต่อได้ 3 ทางคือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี การรับเชื้อทางเลือด และการติดต่อผ่านแม่สู่ลูก ซึ่งเป็นการรับเชื้อผ่านเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด เสมหะ น้ำเหลือง รวมถึงน้ำนมแม่ ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโดย
วิธีป้องกันเอชไอวี
- สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรส หรือ คนที่ไม่รู้จัก
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับคนอื่น
- ตรวจเลือดก่อนการแต่งงาน เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายของทั้งคู่ไม่มีการติดเชื้อ
- รับการตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- หากมีแผลเปิดควรระมัดระวัง ไม่ให้แผลสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
- การใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) ก่อนการสัมผัสโรค
- การใช้ยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (Post-Exposure Prophylaxis : PEP) หลังการสัมผัสโรค

ประโยชน์ของการป้องกันเอชไอวี
จากสถิติประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ทราบว่าตนติดเชื้อเอชไอวีและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 460,000 คนเท่านั้น และคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี อีกประมาณ 29,000 คน ที่ยังไม่ทราบว่าตนติดเชื้อ ดังนั้นผู้ที่ยังไม่มีเชื้อจะสามารถลดอัตราการขยายตัวนี้ได้ โดยการป้องกันเอชไอวีอย่างถูกวิธี เพื่อให้สุขภาพร่างกายปกติ ไม่มีไวรัสเอชไอวีที่คอยทำลายภูมิคุ้มกันร่างกาย ไม่เสี่ยงติดเชื้อฉวยโอกาส ไม่เกิดการแพร่เชื้อและการติดต่อ ไม่ต้องรับประทานยาต้านไวรัสตลอดชีวิต และลดโอกาสการติดเชื้อชนิดอื่นๆที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ และอย่าลืมในการตรวจเอชไอวี ค้นหาจากแผนที่ได้ที่ https://thaihivmap.com/

ใครบ้างที่ควรป้องกันเอชไอวี
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีลักษณะการติดต่อ แพร่เชื้อ และมีพฤติกรรมเสี่ยงดังต่อไปนี้
- กลุ่มชายรักชาย (Homosexual)
- กลุ่มชายรักสองเพศ (Bisexual)
- สามี ภรรยา หรือคู่นอน ที่ไม่ทราบว่าคู่นอนมีเชื้อเอชไอวี
- พฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน
- ตนหรือคู่นอน เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
- หญิงและชายที่ขายบริการทางเพศ
- หญิงตั้งครรภ์ที่ทำการฝากครรภ์
- ทารกในครรภ์ และ บุตร ที่มารดาติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีบาดแผล ที่เสี่ยงสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้อื่น
- บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเลือดหรือของเหลวจากร่างกายผู้ป่วย
- ผู้ป่วยโรควัณโรค
การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี มีทั้งหมดกี่วิธี?
วิธีการที่จะช่วยป้องกันการไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ดีที่สุด มีทั้งหมด 5 วิธี ดังนี้
- การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากเพศสัมพันธ์ : โดยจะต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เลือกใช้ถุงยางอนามัยได้มาตรฐานเพื่อลดความเสี่ยงของการฉีกขาด
- การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ที่ฉีดยาเสพติดเข้าเส้น : ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับคนท้อง : หญิงตั้งครรภ์ควรตรวจเลือดก่อนการฝากท้อง หรือ ระหว่างที่ฝากท้อง เพื่อสามารถรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
- การป้องกันการติดเชื้อโดยการทานยา เพร็พ (PrEP) ก่อนการสัมผัสโรค : เป็นยาต้านไวรัสสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่มีภาวะเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งแพทย์ได้ยืนยันแล้วว่าเป็นยาที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส ได้มากถึง 90%
- การป้องกันการติดเชื้อโดยการทานยา เป๊ป (PEP) หลังการสัมผัสโรค : เป็นยาที่มีคุณสมบัติในการยั้งการแบ่งตัวของสารพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันเชื้อเอชไอวีไว้ได้ ก่อนที่เชื้อจะแพร่กระจายสู่ร่างกาย โดยยาชนิดนี้จะต้องทานหลังจากได้รับเชื้อเอชไอวี ภายใน 72 ชั่วโมง