ชีวิตของ เพศที่สาม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เพศที่สาม น้ำฟ้า รองมิสทิฟฟานี่ 2022

แม้จะจบการประกวดของเพศทางเลือก ที่เป็นเวทียอดฮิตอย่างมิสทิฟฟานี่ไปแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้เราติดตามในหลากหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคำตอบของ น้ำฟ้า ณพิชญา พิมพ์ปรุ ที่คว้ารองมิสทิฟฟานี่ 2022 ไปครองนั้นก็สร้างกระแส และความสนใจเกี่ยวกับชีวิตของ เพศที่สาม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อย

สอดคล้องกับคำพูดที่ว่า “ดินพัทยาหรือดินที่ไหนก็ดินสีเดียวกันกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วทำไมจึงแตกต่าง” นั้นเป็นใจความสำคัญที่เธอเคยพูดไว้ และทำให้เราอยากรู้ว่า จริง ๆ แล้วชีวิตที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ LGBTQAN นั้น มีความเหมือนหรือแตกต่างจากที่อื่นอย่างไรบ้าง และอะไรคือสิ่งที่น้ำฟ้าอยากจะบอกกับทุกคนในฐานะ เพศที่สาม ที่มาจากจังหวัดยะลา

บทสัมภาษณ์ของน้ำฟ้า เพศที่สาม รอง Miss Tiffany

บทสัมภาษณ์ของน้ำฟ้า

Q: รบกวนช่วยเล่าช่วงชีวิตที่ผ่านมาหลังจากเติบโตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีอะไรที่เรารู้สึกว่ามันต่างกันออกไปไหมครับ หรือสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากเป็นในพื้นที่จังหวัดอื่น

A: ช่วงชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่ของฟ้าไม่แตกต่างจากเพื่อน ๆ ในความหลากหลายทางเพศ หรือ เพศที่สาม เท่าไหร่เพราะรูปลักษณ์ของเรายังเป็นผู้ชาย แต่มันจะเริ่มมีความยากจริง ๆ หลังจากที่ฟ้าเริ่มที่จะเปลี่ยนตัวเองกลายไปเป็นรูปลักษณ์ของผู้หญิง

ด้วยบริบทของคนในพื้นที่เกิน 80% นับถือศาสนาที่ค่อนข้างเคร่งขัด ทำให้หากใครใช้ชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ไม่ใช่แค่เกย์หรือสาวประเภทสอง แต่หากเป็นทอมหรือดี้ก็จะทำให้การใช้ชีวิตค่อนข้างลำบากและจำกัด ในตอนยังศึกษาการเรียนรู้อยู่นั้นเรายังไม่เห็นภาพชัดเจน เพราะเราถือว่าเราทำตามกติกาในการศึกษาต่อ

ที่จริงช่วงเรียนต่อสมัยปวส. โชคดีที่เราได้เจอกับผู้บริหารสถานการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์ เขาพูดกับฟ้าเองเลยว่า

“คุณอยากแต่งตัวเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย แต่เขาแนะนำให้ฟ้าเลือกที่จะแต่งเป็นผู้หญิง และเป็นฟ้าเองที่เลือกจะขอแต่งตัวเป็นผู้ชาย เพื่อให้เขารู้ว่าเราทำตามหน้าที่ได้”

เป็นนักเรียนที่ดีคนหนึ่งได้ไม่แตกต่างจากคนอื่น และตัวฟ้าเองก็เป็นคนที่ชอบทำอะไรกระฉับกระเฉง จึงคิดว่าชุดนักเรียนชายเหมาะสมมากกว่า เรื่องเดียวที่ขอ คือ เรื่องทรงผมเพราะต้องไว้ผมยาวสำหรับเดินสายประกวดในช่วงนั้นแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นอีกเรื่องที่เรากรุยทางให้กับรุ่นน้องให้สามารถไว้ผมยาวได้ เพราะทรงผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความตั้งใจในการศึกษาของเรา

เหตุการณ์เมื่อเรียนจบออกมาทำงาน

จนกระทั่งมาทำงาน ถึงได้เจอกับความแตกต่าง และการเลือกปฏิบัติจากสังคมที่ไม่มีกติกาที่ชัดเจนและแฟร์กับทุกความหลากหลาย เราได้รับโอกาสน้อย น้อยในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง แค่การทำงานหรือโอกาสในการทำธุรกิจต่างๆ แม้แต่กิจกรรมทำเพื่อสังคม การเป็นจิตอาสา สาธารณะประโยชน์ พวกเราจะมีหน้าที่น้อยลงมาก

เพราะคำว่า “ไม่เหมือนคนอื่น ต่าง เป็นเพศทางเลือกที่ไม่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง” ทำให้เพศทางเลือกหลายคนที่นี้ เลือกที่จะไปเติบโตที่อื่น เพราะบริบทสังคมไม่ได้เอื้อให้เขาสามารถเติบโตในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองได้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราเสียทรัพยากรบุคคลที่มาจากบ้านเกิดตัวเองไปเพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง

เคยมีครั้งหนึ่งฟ้าได้รับการว่าจ้างให้เข้าไปแต่งหน้าประจำงานเทศกาลของจังหวัดของเรา กับลูกค้าผู้หญิงไม่มีปัญหาเลย แต่กับลูกค้าผู้ชายบางคนก็จะมีความตื่นตระหนกหรือแสดงออกว่าไม่ต้องการให้เราเข้าไปข้องเกี่ยวกับเขาแม้แต่การแต่งหน้าให้ก็ตาม เหมือนกับการถามหาช่างแต่งหน้าผู้หญิงคนอื่นหรือขอไปเลยว่าขอไม่แต่งหน้าได้ไหม

ตรงจุดนี้ฟ้าก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเขาไม่อยากแต่งเพราะไม่อยากแต่งจริงๆ หรือเพราะเป็นเราที่เป็นช่างแต่งหน้าตรงนั้นและที่นี้การแสดงออกค่อนข้างรุนแรง อาจจะให้แต่งหน้าแต่ก็แสดงท่าที่ฮึดฮัด หรือบางคนก็ปฏิเสธด้วยความแข็งกร้าว

การเลือกปฏิบัติกับ เพศที่สาม

การเลือกปฏิบัติกับ เพศที่สาม

Q: เคยเจอการเลือกปฏิบัติจากกรณีอื่น ๆ อีกไหมครับ?

A: สมัยทำบัตรประชาชนก่อนขึ้นกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ ๆ ให้บริการเรามีน้ำเสียงกระโชกโฮกฮาก เป็นวิสัยที่ผิดไปจากที่เขาให้บริการคนอื่น ซึ่งเขาควรให้บริการเราเหมือนกับประชาชนคนหนึ่งเท่า ๆ กันกับคนอื่น

Q: หลังได้รับตำแหน่งมาเกิดการเปลี่ยนอะไรกับเราและในท้องที่ไหมครับ

A: หลังกลับไปที่ยะลาก็ได้รับการต้อบรับที่ดีขึ้น เหมือนเขาภูมิใจเหมือนกันที่เราได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดยะลา ในส่วนของท้องที่เราก็ได้รับเคสที่มาจากพี่ๆ ให้ไปดูแล ทำเรื่องที่มากกว่าแค่ความสวยความงาม และการช่วยเหลือของเรามันมากกว่าแค่กลุ่มความหลากหลาย แต่ยังรวมไปจนถึงกลุ่มคนชายขอบ ผู้พิการ และคนอื่นๆ ในสังคมของเราค่ะ

Q: เวลาเจอเพื่อนนางงามด้วยกันหรือคนอื่นๆ ที่เขารู้ว่าเรามาจากยะลาหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาแสดงท่าที่อย่างไรบ้างไหมครับ?

A: โดยทั่วไปจะแสดงความเป็นห่วงมากกว่า แรกเริ่มเราดีใจกับความเป็นห่วงของเขา ทุกคนไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบของเราตลอดๆ แต่ภายหลังมันเหมือนเป็นการผลิตซ้ำภาพจำของความรุนแรงในพื้นที่ ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เราเจอมา จึงทำให้เราอยากจะยกเลิกคำว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อลดภาพจำตรงนี้

“อยากให้ระบุเราให้ชัดเจน น้องฟ้าจาก จ.ยะลา ไม่ใช่น้องฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

Q: แล้วในส่วนของการเทคฮอร์โมนนะครับ ในสมัยนั้นกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนเป็นอย่างไรบ้างครับ
A: ต้องบอกว่ายากมากๆ ค่ะ ทั้งข้อมูลและการเข้าถึงฮอร์โมนยากไปหมดเลย สมัยนั้นข้อมูลแรกที่ฟ้าได้รับคือจากพี่สาวข้างบ้านที่แนะนำให้เราทดลองทานฮอร์โมนดูเพื่อปรับสภาพร่างกาย ส่วนตัวยาที่ทานเข้าไปคือยาคุมธรรมดา จนกระทั่งเราได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้น โตมากขึ้น ทำให้เราปรับเปลี่ยนเป็นตัวฮอร์โมนที่เหมาะสมกับเรามากขึ้นค่ะ

ตรงจุดนี้ปัจจุบันนับว่าข้อมูลค่อนข้างเข้าถึงง่ายแล้วหากเทียบกับสมัยก่อน แต่ในส่วนของพื้นที่การเข้าถึงฮอร์โมนก็ยังเป็นเรื่องยากลำบากอยู่ดีเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ แล้วฟ้าเองแรก ๆ ก็ยังกังวลเรื่องคุณพ่อ คือทราบว่าท่านทราบ แต่ไม่แน่ใจว่าจะรับเราได้มากน้อยขนาดไหนในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ประมาณนี้ที่เกิดขึ้นค่ะ

Q: เคยเจอเพื่อน ๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศแต่ไม่สามารถยอมรับตัวเองได้ไหมครับ?
A: เคยเจอค่ะ แต่ถามว่าเข้าใจไหม เราเข้าใจเขานะคะ ด้วยบริบทความเชื่อของเขา สิ่งที่เขาอยากจะเป็นกับความเชื่อของตนเองมันไม่ตรงกัน ฟ้าเคยมีเพื่อนที่เหมือนเป็นเพื่อนสนิทเราเลย เคยวาดไว้ว่าอยากที่จะผ่านทางและเปลี่ยนแปลงตัวเองไปด้วยกัน แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลือกที่จะแต่งงาน มีครอบครัวและทำตามความเชื่อของตนต่อไป ว่าบั้นปลายชีวิตต้องมีครอบครัวดูแล ต้องมีลูกหลานคอยซัพพอร์ตเขา

ก่อนหน้านี้ฟ้าเองก็เคยมีแฟนเป็นผู้ชายมุสลิม แต่สุดท้ายเราก็ต้องแยกจากเขาเพื่อที่เขาจะกลับไปใช้ชีวิตในแบบที่เขาคิดว่ามันปกติสุขในความคิดของเขาและบริบทรอบตัว ใช้ชีวิตเป็นเรื่อง “ปกติในแบบของเขา” มีครอบครัว มีลูกต่อไป

Q: สุดท้ายนี้หากเราจะสามารถพูดอะไรกับคนทั่วไปได้อยากจะบอกอะไรกับพวกเขาครับ และจะบอกอะไรกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง
A: แยกเป็นสองส่วนนะคะ สำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศด้วยกัน คนที่เข้าใจฟ้า ไม่ว่าจะรุ่นพี่หรือรุ่นน้อง ขอให้อย่าเพิ่งท้อ ทุกอย่างจะมีเวลาของมัน ให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ ก่อนที่เราจะให้ใครมาเคารพเราเราก็ต้องเคารพคนอื่นก่อน แล้วสักวันความเข้าใจจะมากขึ้น หากสิ่งที่เราทำมันไม่ได้เดือดร้อนใคร สุดท้ายสังคมจะเข้าใจเรามากขึ้น ทำและเดินหน้าต่อไป

ชีวิตของเพศทางเลือกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อคิดถึง เพศที่สาม กับสังคมในปัจจุบัน

ในส่วนของคนทั่วไป อย่างน้อยอย่าเพิ่งตัดสินเราจากภายนอกว่าเราเป็นคนผิดหรือคนไม่ดี เป็นคนบาป อยากให้ลองสัมผัสดูก่อน พวกเราเป็นหมอได้ เป็นครูได้ เป็นพยาบาลได้ ขอแค่อย่างเดียวคือเราต้องการโอกาสจากสังคม อยากให้ได้ลองพิสูจน์ว่าพวกเราก็สามารถเป็นทุกอย่างที่สังคมต้องการได้และเป็นตัวเองได้เช่นกัน

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่นี่

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา Cookies policy ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้ Cookie settings

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว บันทึกการตั้งค่า