STD | โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

STD โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพร่างกาย แก่ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก การทำความเข้าใจ ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร ติดต่ออย่างไร อาการ ทางเลือกในการป้องกัน และรักษาที่มีอยู่ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมการปฏิบัติทางเพศที่ดีต่อสุขภาพ และลดการแพร่กระจายของการติดเชื้อเหล่านี้ บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนในทุกเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) คืออะไร?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) ย่อมาจาก Sexually Transmitted Diseases คือ โรคที่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก โดยไม่ได้ป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือปรสิต อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย

หนองในเทียม (Chlamydia) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis อาการที่พบได้บ่อย คือ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ตกขาวผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้

หนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae เชื้อจะเริ่มแสดงอาการ หลังจากได้รับเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 1 สัปดาห์ อาการที่พบได้บ่อย คือ มีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย หนองไหลจากอวัยวะเพศ ทั้งนี้บางคนอาจไม่ได้มีอาการอะไรเลย

เริม (Herpes) คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus (HSV) โรคนี้สามารถทำให้เกิดแผลพุพองที่ปาก ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศได้ เริม สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสกับแผลพุพอง หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย เริมเป็นโรคที่รักษาได้ แต่ไม่สามารถหายขาดได้ ผู้ป่วยเริม อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้ หากมีปัจจัยบางอย่างกระตุ้น

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum เชื้อนี้สามารถติดต่อผ่านการสัมผัส กับแผลซิฟิลิส หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ซิฟิลิสเป็นโรคที่รักษาได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

เอชพีวี (HPV) หรือ Human Papilloma virus คือ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง พบได้ทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง เชื้อไวรัส HPV สามารถติดต่อผ่านการ สัมผัสทางผิวหนังกับผิวหนังโดยตรง หรือผ่านการสัมผัสกับของเหลวจากอวัยวะเพศ เช่น น้ำอสุจิ สารคัดหลั่ง หรือเลือด เชื้อไวรัส HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งบางส่วนสามารถทำให้เกิด หูด หูดที่อวัยวะเพศ และมะเร็งบางชนิดได้

เอชไอวี (HIV) หรือ Human Immunodeficiency Virus คือ เชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่าย ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา HIV ให้หายขาด แต่สามารถควบคุมได้ด้วย ยาต้านไวรัส ช่วยให้ระดับไวรัสในเลือดลดลงได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้รับการรักษา อาจลุกลามไปสู่โรคเอดส์ได้ ซึ่งเป็นอันตรายแก่ชีวิต

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการเป็นอย่างไร ?

อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค และตำแหน่งที่ติดเชื้อ อาการทั่วไปของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่

  • หนองในเทียม (Chlamydia) มักมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ตกขาวผิดปกติ
  • หนองในแท้ (Gonorrhea) มักมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ หรือช่องคลอด
  • เริม (Herpes) มีลักษณะเป็นแผลพุพอง มักพบที่บริเวณปาก ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ
  • ซิฟิลิส (Syphilis) ระยะแรกอาจไม่มีอาการ ระยะที่สองอาจมีอาการผื่น อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ระยะที่สามอาจมีอาการรุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคสมอง
  • เอชพีวี (HPV) มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งบางส่วนสามารถทำให้เกิดหูด หูดที่อวัยวะเพศ และมะเร็งบางชนิดได้
  • เอชไอวี (HIV) ระยะแรกอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ระยะแฝงอาจไม่มีอาการ ระยะเอดส์ อาจมีอาการน้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้เรื้อรัง ท้องเสีย โรคปอดบวม ภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก ทำให้ติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่าย

การวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การตรวจเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจจากสารคัดหลั่ง
  • การตรวจร่างกาย

การตรวจหาตั้งแต่เนิ่นๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะเป็นการรักษาได้อย่างทันท่วงทีแล้ว ยังสามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นอีกด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD)

ภาวะแทรกซ้อนของแต่ละโรค อาจแตกต่างกันไปตามชนิดของโรค ดังต่อไปนี้

หนองในเทียม ภาวะแทรกซ้อน คือ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อนำไข่อุดตัน ภาวะมีบุตรยาก

หนองในแท้ ภาวะแทรกซ้อน คือ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อนำไข่อุดตัน ภาวะมีบุตรยาก

เริม ภาวะแทรกซ้อน คือ หากติดเชื้อที่บริเวณดวงตา อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้ 

ซิฟิลิส ภาวะแทรกซ้อน คือ โรคหัวใจ โรคภาวะสมองเสื่อม

เอชพีวี ภาวะแทรกซ้อน คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ

เอชไอวี ภาวะแทรกซ้อน คือ วัณโรค โรคติดเชื้อฉวยโอกาส โรคเอดส์

การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) บางโรคสามารถรักษาให้หายได้ แต่บางโรคไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยทั่วไป การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะประกอบด้วยการใช้ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส หรือยารักษาโรคอื่น ๆ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

การป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD)

การป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD)

วิธีป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือ การไม่มีเพศสัมพันธ์ แต่อย่างไรก็ตาม หากเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และควรใช้อย่างถูกวิธี เพราะ ถุงยางอนามัย สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายชนิด เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม เริม เอชพีวี และเอชไอวี

นอกจากนี้ ยังสามารถลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดย

  • การมีคู่นอนคนเดียว
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันเอชพีวี
  • การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากคุณตระหนักในการป้องกันตัวเองอยู่เสมอ โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรค และตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้คุณห่างไกลจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างแน่นอน

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา Cookies policy ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้ Cookie settings

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว บันทึกการตั้งค่า